กล้าแผ่นดิน...

ปี ๒๕๔๔  เป็นปีที่ปัญหายาเสพติดทวีความรุนแรงอย่างยิ่ง  จนหลายหน่วยงานได้ประสานความร่วมมือเพื่อการดำเนินการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้ได้ผล  จนแม้แต่ กองบัญชาการทหารสูงสุด (ปัจจุบันคือ กองบัญชาการกองทัพไทย),สำนักงาน ป.ป.ส. , กระทรวงศึกษาธิการ,กระทรวงมหาดไทย ได้ประสานความร่วมมือกับพระสงฆ์ทั่วประเทศ  เพื่อสานต่อแนวคิด "บ  ว  ร"  บ้าน วัด โรงเรียน ร่วมใจต้านภัยยาเสพติด  ทำให้เกิด

 

โครงการกองทัพธรรม กองทัพไทย ร่วมต้านภัยยาเสพติด

     จังหวัดเพชรบูรณ์ โดย พระเดชพระคุณ พระราชพัชราภรณ์  เจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์ (ปัจจุบันคือ พระเทพรัตนกวี) ได้ส่งพระสงฆ์ ไปร่วมรับการฝึกอบรมเป็นพระวิทยากร เพื่อกลับมาตั้งศูนย์พัฒนาคุณธรรมในระดับจังหวัดและอำเภอ ศูนย์พัฒนาคุณธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยความร่วมมือของคณะสงฆ์  และส่วนราชการจังหวัดเพชรบูรณ์  เพื่อดำเนินการด้านอบรม  ส่งเสริม  และสนับสนุน  การพัฒนาคุณธรรมแก่สังคม ตั้ง แต่ ปี ๒๕๔๕ เป็นต้นมา

 

     ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ศูนย์พัฒนาคุณธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์   ได้ดำเนินการพัฒนาคุณธรรม ทั้งในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และพื้นที่อื่นๆทั่วประเทศ   โดยสนับสนุนพระวิทยากร  บรรยายให้ความรู้  และจัดกิจกรรมพัฒนาคุณธรรม  ตามหลักสูตร/โครงการต่างๆ  ทั้งในส่วนราชการและเอกชนอย่างต่อเนื่อง เช่น ค่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต,ค่ายพัฒนาผู้นำเยาวชน,  ค่ายพัฒนาคุณธรรม,  ค่ายครูดีวิถีพุทธ เป็นต้น

 

     ในปี ๒๕๔๙  เพื่อให้การดำเนินงานเกิดการครอบคลุมในทุกภูมิภาค ครอบคลุมกิจกรรม ที่มากกว่าการจัดค่าย โดยเพิ่มแนวคิด กิจกรรมในการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน เสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย "คนทำดี" โดยไม่มีขอบเขตของศาสนา  จึงพัฒนาการจาก ศูนย์พัฒนาคุณธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์  เป็น เครือข่ายเพื่อนฯคุณธรรม  โดยมี พระเทพรัตนกวี เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ เจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์  เป็นประธานอุปถัมภ์  และมี  พระครูสมุห์เอกรัฐ  อภิรกฺโข  เป็น ประธานเครือข่ายเพื่อนฯคุณธรรม

 

สู่คำว่า "กล้าแผ่นดิน"

จากแนวคิดของ พระครูสมุห์เอกรัฐ  อภิรกฺโข ที่เห็นว่าการแก้ปัญหาของสังคมโดยเฉพาะในกลุ่มของเด็กและเยาวชน  ไม่ว่าเรื่องยาเสพติด เพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การทะเลาะวิวาท ความฟุ้งเฟื้อทะเยอทะยาน  รวมไปถึงปัญหาสังคมอื่นๆ จำเป็นที่ต้องสร้างกระแสนิยม "รักดี" ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน จากอดีตที่ตั้งหน้าแต่จัดอบรม ก็น่าจะมีกระบวนการที่สามารถรวมกลุ่ม ติดตาม สร้างสรรค์ พัฒนาไปสู่เวทีของคนทำความดี จนเกิดเป็นพลังในการพัฒนาสังคมประเทศชาติสืบไป

 

โครงการกล้าแผ่นดินด้วยเศรษฐกิจพอเพียง  ได้เริ่มต้นจากการรวมเอากิจกรรมต่างๆที่พระอาจารย์ได้ทำ ตลอดจนถึงที่เด็กๆอยากให้ทำ มาหลอมรวม ในปี ๒๕๔๙ มีทั้งสิ้น ๗ กล้า ปีต่อมาจนถึงปัจจุบันมีการพัฒนา มาเป็น ๙ กล้า ซึ่งบางกล้า ก็มีการปรับเปลี่ยน ตามความเหมาะสม ในปี ๒๕๕๒ จึงมีกรอบแนวปฏิบัติ ดังนี้ ๑.กล้าคิด ๒.กล้านำ ๓.กล้าทำดี ๔.กล้าวาทศิลป์ ๕.กล้าคุณธรรม ๖.กล้าวรรณศิลป์ ๗.กล้าอาสา ๘.กล้าคว้าดาว ๙.กล้าของพ่อ  ในปัจจุบันมีสถานศึกษา ที่ตั้งชมรมต้นกล้าฯ ในทุกภูมิภาคกว่า ๕๐ แห่ง

 

นิยามของกล้าแผ่นดิน

กล้าในประการที่ ๑

เด็กและเยาวชน คือ กล้าพันธุ์ของสังคม วันนี้เขาคือต้นกล้า แต่..วันหน้า เขาคือต้นไม้ใหญ่ หากผู้ใหญ่ในสังคมเอาใจใส่ ดูแล บำรุง รักษา ดัด ตัดแต่ง กล้าพันธุ์ใหม่ในวันนี้ย่อมจะเป็นต้นไม้ใหญ่ที่สมบูรณ์ด้วยความรู้ คู่คุณธรรม ยังประโยชน์ให้กับสังคมอย่างแน่นอน


กล้าในประการที่ ๒

          เด็กและเยาวชน ในวันนี้ต้องกล้าแสดงออกในทางที่ดี โดยจำเป็นที่จะต้องปลูกฝังให้กล้าที่จะช่วยเหลือผู้อื่น มีจิตสาธารณะ ดำเนินชีวิตอยู่บนพื้นฐาน ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลักศาสนธรรมที่ตนนับถือ โดยมีทั้งความรู้และคุณธรรม 

ทั้งนี้สังคมต้องมีพื้นที่ให้เขาเหล่านั้นได้แสดงออกอย่างภาคภูมิใจ

credit : www.meetham1.com

Advertising Zone    Close

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...